Fact หลังเกม : 5 ปัจจัย ทำไมผีแดงถล่มเชลซีขาดเหลือเชื่อ 4-0

Fact หลังเกม : 5 ปัจจัย ทำไมผีแดงถล่มเชลซีขาดเหลือเชื่อ 4-0
Fact หลังเกม : 5 ปัจจัย ทำไมผีแดงถล่มเชลซีขาดเหลือเชื่อ 4-0

Fact หลังเกม : 5 ปัจจัย ทำไมผีแดงถล่มเชลซีขาดเหลือเชื่อ 4-0

เกมคู่เอกประจำสัปดาห์แรกของศึกพรีเมียร์ลีก ฤดูกาลใหม่ ถือว่าจบลงด้วยผลการแข่งขันอันน่าเหลือเชื่อ เมื่อ แมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด เปิดบ้านถล่ม เชลซี ไปแบบยับเยินเกินคาดถึง 4-0

หากใครได้ดูเกมคู่นี้เมื่อคืนวันอาทิตย์ จะรู้เลยว่า จริงๆ รูปเกมของ เชลซี ไม่ได้เป็นรองทีมปีศาจแดงแต่อย่างใด โดยทีมสิงโตน้ำเงินครามสามารถครองบอลได้เหนือกว่า และหาโอกาสยิงได้มากกว่าด้วยซ้ำ เรียกได้ว่า “แพ้ที่จังหวะ” มากกว่า

ผมขอวิเคราะห์ปัจจัยที่ทำให้ผลการแข่งขันออกมาขาดลอยขนาดนี้ มีอยู่ 5 ข้อด้วยกันครับ…

1. เกมรับผีแดงที่ยกระดับขึ้น

ไฮไลท์สำคัญของเกมนัดนี้ คือการลงสนามให้ แมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด เป็นนัดแรกของ แฮร์รี่ แม็คไกวร์ เจ้าของสถิติกองหลังค่าตัวแพงที่สุดในโลกคนใหม่ รวมไปถึง อารอน วาน-บิสซาก้า แบ็กขวาดาวรุ่ง ซึ่งทีมปีศาจแดงใช้เงินรวมกันถึง 130 ล้านปอนด์ ในการคว้า 2 คนนี้เข้ามาแก้จุดอ่อนในแนวรับของทีม

และสุดท้ายเราก็ได้เห็นกันจริงๆ ว่าทั้ง แม็คไกวร์ และ วาน-บิสซาก้า ทำให้เกมรับของ แมนฯ ยูไนเต็ด มีความแข็งแกร่ง และเจาะยากขึ้นกว่าฤดูกาลก่อนอย่างชัดเจน

โดยเฉพาะอย่างยิ่งปราการหลังเจ้าของค่าตัว 80 ล้านปอนด์ สามารถรับมือกับลูกกลางอากาศได้อย่างหมดจด และยืนตำแหน่งได้ดีเยี่ยมตลอดทั้งเกม แถมช่วยจัดระเบียบการยืนตำแหน่งของกองหลังทั้งแผงให้มีความแน่นอนมากขึ้นด้วย

แม็คไกวร์ ทำสถิติเคลียร์บอลมากที่สุด (7 ครั้ง), ดักตัดบอลมากที่สุด (4 ครั้ง) และชนะลูกโด่งมากที่สุด (4 ครั้ง) แถมช่วยตัดบอลจาก แทมมี่ อับราฮัม เปิดโอกาสให้ทีมสวนกลับจนได้ประตูที่ 2 ถือเป็นผลงานสมบูรณ์แบบจริงๆ ในเกมประเดิมสีเสื้อผีแดง

ขณะที่ วาน-บิสซาก้า แสดงให้เห็นถึงจุดเด่นที่มี คือความเด็ดขาดในการเข้าปะทะ เขาทำสถิติเข้าบอลสำเร็จมากถึง 6 ครั้ง มากที่สุดในสนาม ประกอบกับเป็นเกมที่ เชลซี ไม่ได้ส่งปีกซ้ายอาชีพลงตัวจริง งานของเขาจึงง่ายขึ้นเยอะพอสมควร

และด้วยคุณภาพกองหลังที่ไว้ใจได้มากขึ้น จึงสร้างความมั่นใจให้ ดาบิด เด เคอา ไม่เสียสมาธิ ก่อนจะทำผลงานเซฟลูกอันตรายได้ถึง 7 ครั้ง เก็บคลีนชีตประเดิมฤดูกาลใหม่ได้สำเร็จ

 

2. “ซูม่า” แจกของขวัญ

ในช่วง 15 นาทีแรก เชลซี เป็นฝ่ายเล่นได้ดีกว่า เมื่อบีบไม่ให้เจ้าถิ่นตั้งเกมได้ แถมเกือบขึ้นนำได้ด้วยซ้ำจากลูกยิงไปชนเสาของ แทมมี่ อับราฮัม 

แต่จุดเปลี่ยนของเกมมาเกิดขึ้นในนาทีที่ 17 ที่จู่ๆ คูร์ท ซูม่า ก็ไปทำเฟอะฟะ ขวาง มาร์คัส แรชฟอร์ด ล้มจนทีมเสียจุดโทษ และเมื่อ แรชฟอร์ด รับหน้าที่สังหารไม่พลาดให้ แมนฯ ยูไนเต็ด ขึ้นนำก่อน นั่นหมายความว่าทีมปีศาจแดงสามารถเลือกเล่นแบบรอจังหวะสวนกลับที่ถนัดได้ทันที

จริงๆ ในช่วงต้นเกม ซูม่า ก็เกือบทำทีมเสียประตูเร็วกว่านั้นด้วย เมื่อจ่ายบอลพลาดไปเข้าทาง อ็องโตนี่ มาร์กซิยาล ได้ยิงตามน้ำแบบส้มหล่น แต่โชคดีที่ มาร์กซิยาล ซัดเบาเกินไป

3. เกมสวนกลับผีแดงโหดมาก

อย่างที่ผมบอกไปในข้อที่ 2 การที่ แมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด เป็นฝ่ายทำประตูแรกของเกมได้ก่อน นั่นหมายความว่าพวกเขาสามารถเลือกวิธีเล่นสวนกลับที่ถนัดได้ และมันก็ได้ผล

ประตูที่ 2, 3 และ 4 ของทีมปีศาจแดง ล้วนมีจุดเริ่มต้นจากการตัดบอลได้หน้าปากประตูตัวเอง แล้วใช้การโจมตีเร็ว บุกสวนไปจนจบด้วยบอลตุงตาข่าย

ยิ่งทีมปีศาจแดงได้ประตูมากเท่าไร เชลซี ยิ่งว้าวุ่นใจกับการทวงประตูคืนมากขึ้น และนั่นทำให้การโต้กลับยิ่งเป็นเรื่องง่ายขึ้นมากเท่านั้น

นักเตะที่มีส่วนสำคัญทำให้เกมโต้กลับของ แมนฯ ยูไนเต็ด น่ากลัวสุดๆ คือ มาร์คัส แรชฟอร์ด และ ปอล ป็อกบา

แรชฟอร์ด มีจุดเด่นที่ความคล่องตัวในการพาบอลกินแดนหนีคู่แข่ง ประตูที่ 2 แรชฟอร์ด คือคนเลี้ยงบอลผ่านกลางสนามขึ้นมาจ่ายบอลให้ เจสซี่ ลินการ์ด ก่อนจบด้วยจังหวะที่ อันเดรียส เปเรยร่า ครอสให้ อ็องโตนี่ มาร์กซิยาล ซัดจ่อๆ

ส่วน ป็อกบา ก็แสดงให้เห็นถึงความเป็นนักเตะเวิลด์คลาสอีกครั้ง ด้วยการวางบอลยาวอันสุดยอดให้ แรชฟอร์ด หลุดกับดักล้ำหน้าไปยิงประตู 3-0 ก่อนจะดึงตัวประกบเข้าหา แล้วจ่ายทะลุอย่างเหนือชั้นให้ แดเนียล เจมส์ หลุดไปซัดปิดท้าย

 

4. จังหวะจบที่ไม่คมเองของเชลซี

 

 

สถิติหลังจบเกมระบุว่า แมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด ยิงตรงกรอบ 5 ครั้ง ได้ 4 ประตู ขณะที่ เชลซี ยิงเข้ากรอบ 7 หน แต่ติดเซฟของ ดาบิด เด เคอา ทั้งหมด

โอเคว่า เด เคอา ยืนตำแหน่งป้องกันได้อย่างยอดเยี่ยม และมีช็อตซูเปอร์เซฟสวยๆ หลายครั้ง แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่า จังหวะจบสกอร์ของ เชลซี ยังไม่เฉียบคมพออยู่ดี

โดยเฉพาะอย่างยิ่งในครึ่งแรก ถ้าหากลูกยิงของ แทมมี่ อับราฮัม ไม่ไปชนเสา หรือ เอเมอร์สัน พัลมิเอรี่ ไม่ซัดไปชนสามเหลี่ยมคานบน ทีมสิงห์บลูส์อาจเป็นฝ่ายขึ้นนำได้เมื่อจบครึ่งแรก และผลการแข่งขันก็ไม่น่าจะแพ้ขาดลอยแบบนี้

 

5. สภาพความพร้อมของทีมผิดกัน

แม้จะเป็นเกมบิ๊กแมตช์ที่ 2 ทีมชื่อชั้นพอๆ กัน แต่ถ้าพิจารณาทุกแง่มุม ต้องยอมรับว่า แมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด เหนือกว่าทุกอย่าง

โอเล่ กุนนาร์ โซลชาร์ ได้คุมทีมออกสตาร์ทนัดแรกในบ้าน ด้วยความมั่นใจเต็มเปี่ยมจากผลงานดีช่วงปรีซีซั่น แถมได้กองหลังชั้นดีมาใหม่ เข้ามาแก้จุดอ่อนที่เขากังวลมานาน

แต่ทางด้าน แฟร้งค์ แลมพาร์ด ต้องคุมทีมลงสนามเกมพรีเมียร์ลีกเป็นครั้งแรก ในสถานการณ์ที่สโมสรซื้อใครใหม่ไม่ได้ในช่วงซัมเมอร์ แถมเสียนักเตะที่ดีที่สุดอย่าง เอแด็น อาซาร์ ออกไปให้ เรอัล มาดริด

สภาพทีมก่อนเกม เอ็นโกโล่ ก็องเต้ ก็ไม่ฟิตเต็มร้อย แถม รูเบน ลอฟตัส-ชีค, คัลลั่ม ฮัดสัน-โอดอย, วิลเลี่ยน และ อันโตนิโอ รือดิเกอร์ ก็มีอาการบาดเจ็บทั้งหมด

อย่างไรก็ตาม ประเด็นที่ แลมพาร์ด ต้องยอมรับว่าเขาตัดสินใจพลาด ก็คือการเลือกใช้ แทมมี่ อับราฮัม ลงตัวจริง แทนที่จะเป็นกองหน้าที่มีประสบการณ์สูงกว่าอย่าง โอลิวิเย่ร์ ชิรูด์ 

รวมไปถึงการดร็อป คริสเตียน พูลิซิช เป็นแค่ตัวสำรองไปก่อน แล้วให้ รอสส์ บาร์คลี่ย์ ที่ไม่ใช่ตัวรุกริมเส้นธรรมชาติลงยืนปีกซ้าย จนทำให้ อารอน วาน-บิสซาก้า เล่นได้ง่ายกว่าเดิม

 

แมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด ยังต้องพิสูจน์ตัวเองอีกหลายนัด ว่าพร้อมแล้วจริงๆ สำหรับการกลับมาเป็นทีมลุ้นแชมป์ เพราะปฏิเสธไม่ได้ว่า สกอร์ที่สวยหรูของพวกเขา มาจากจังหวะเป็นใจ มากกว่ารูปเกมที่เหนือกว่า

ขณะที่ เชลซี ยังมีงานหนักอีกมาก กว่าที่ แฟร้งค์ แลมพาร์ด จะปรับจูนทีมให้ลงตัวได้ คงต้องใช้เวลาอีกพอสมควร…